ปัญหานกเขาไม่ขัน สามารถเกิดขึ้นได้กับวัยรุ่นจนถึงผู้สูงอายุ

Standard

นกเขาไม่ขัน (Erectile Dysfunction) หรือหย่อนสมรรถภาพทางเพศชาย คือ ภาวะที่อวัยวะเพศชายไม่สามารถแข็งตัวได้ตามปกติ ซึ่งเกิดได้จากทั้งสาเหตุทางด้านร่างกายและจิตใจ หรือปัจจัยอื่น ๆ เช่น โรคหลอดเลือด โรคทางระบบประสาท ภาวะขาดฮอร์โมนเพศชาย โรคเครียด โรคซึมเศร้า หรืออาจเกิดจากความขัดแย้งระหว่างคู่รัก จนส่งผลถึงสภาพจิตใจ รวมไปถึงการดื่มเหล้า สูบบุหรี่ หรือการใช้ยาบางชนิด

นกเขาไม่ขัน

นอกจากนั้น ปัญหานกเขาไม่ขัน สามารถเกิดขึ้นได้กับวัยรุ่นจนถึงผู้สูงอายุ ซึ่งจะเกิดขึ้นกับประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ที่มีอายุระหว่าง 40-70 ปี

อาการของนกเขาไม่ขัน

อาการของนกเขาไม่ขัน เกิดขึ้นเมื่ออวัยวะเพศชายไม่สามารถแข็งตัวหรือแข็งตัวได้ไม่นานพอที่จะมีเพศสัมพันธ์ อาจเกิดร่วมกับภาวะบกพร่องทางเพศอื่น ๆ เช่น มีความต้องการทางเพศลดลง มีปัญหาในการสำเร็จความใคร่ และมีความผิดปกติในการหลั่งน้ำอสุจิ เป็นต้น

หากมีสัญญาณหรืออาการของนกเขาไม่ขันหรือภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ดังต่อไปนี้ ควรไปพบแพทย์

มีความกังวลหรือรู้สึกสงสัยว่าตนเองมีภาวะนกเขาไม่ขันหรือหย่อนสมรรถภาพทางเพศ เป็นเวลากว่า 2-3 สัปดาห์
พบว่าตนเองมีอาการผิดปกติที่เกี่ยวกับเพศ เช่น มีปัญหาในการหลั่งน้ำอสุจิเร็วหรือช้าเกินไป
เป็นผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงของภาวะนกเขาไม่ขัน เช่น โรคหลอดเลือด โรคหัวใจ หรือโรคเบาหวาน รวมไปถึงปัญหาสุขภาพอื่น ๆ

สาเหตุของนกเขาไม่ขัน

สาเหตุแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ

สาเหตุทางด้านร่างกาย

นกเขาไม่ขันส่วนใหญ่จะมีสาเหตุ คือโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือด โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอลสูง โรคอ้วน หรือโรคพาร์กินสัน และภาวะนกเขาไม่ขันเป็นเพียงปลายเหตุ

นอกจากนั้น ยังสามารถเกิดได้จากผลข้างเคียงจากการรักษาโรคหรือการใช้ยาบางชนิด เช่น ยารักษาโรคซึมเศร้า หรือยาแก้แพ้ รวมไปถึงการสูบบุหรี่ ดื่มเหล้าหนัก ร่างกายอ่อนล้า หรือมีความผิดปกติเกี่ยวกับการนอนหลับ เป็นต้น

สาเหตุทางด้านจิตใจ

สมองมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นทำให้เกิดการแข็งตัวของอวัยวะเพศชาย หรือกระตุ้นให้เกิดอารมณ์ทางเพศ ซึ่งภาวะทางจิตใจบางอย่างที่ไปขัดขวางหรือส่งผลด้านลบต่ออารมณ์ทางเพศ ได้แก่ ความเครียด ความวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า หรือภาวะสุขภาพจิตอื่น ๆ รวมไปถึงปัญหาความขัดแย้งหรือปัญหาความสัมพันธ์กับคู่ของตน

การวินิจฉัยนกเขาไม่ขัน

ในเบื้องต้นแพทย์จะซักประวัติผู้ป่วย เช่น อาการที่สำคัญ ประวัติการเจ็บป่วย โรคประจำตัว หรือยาที่ใช้อยู่ และแพทย์จะตรวจร่างกาย นอกจากนั้น หากแพทย์พบปัญหาสุขภาพอื่น ๆ อาจจำเป็นต้องได้รับการตรวจเพิ่มเติมหรืออาจต้องส่งตัวไปให้แพทย์เฉพาะทาง ซึ่งการตรวจเพิ่มเติม ได้แก่ ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ อัลตราซาวด์ ตรวจสุขภาพจิต หรือตรวจสอบการแข็งตัวของอวัยวะเพศ
โดยส่วนใหญ่แล้ว ผู้ที่เกิดภาวะนกเขาไม่ขันมักจะมีโรคที่เป็นต้นเหตุซ่อนอยู่ จึงจำเป็นต้องมีการวินิจฉัยหาสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เพื่อให้สามารถรักษาได้อย่างตรงจุด

การรักษานกเขาไม่ขัน

การรักษานกเขาไม่ขัน หรือหย่อนสมรรถภาพทางเพศ จะขึ้นอยู่กับสาเหตุ ความรุนแรง และโรคประจำตัว เช่น หากเป็นโรคทางกาย แพทย์ก็จะรักษาสาเหตุนั้น ๆ แต่หากรักษาแล้วไม่ได้ผลแพทย์ก็จะทำการวินิจฉัยในขั้นต่อไปเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง และหาว่าการรักษาหรือการบำบัดชนิดใดที่เหมาะสมกับคนไข้ที่สุด

โดยในปัจจุบัน การรักษานกเขาไม่ขันมีหลากหลายวิธีตามความเหมาะสมและความต้องการของคนไข้แต่ละคน ได้แก่

ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน

พยายามเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการใช้ชีวิตประจำวันโดยอาศัยความพยายามและความตั้งใจจริง เพื่อทำให้มีสุขภาพที่แข็งแรงขึ้น เพราะการแข็งตัวของอวัยวะเพศชายเป็นตัวบ่งชี้ถึงสุขภาพร่างกาย
ผู้ป่วยที่มีปัญหาน้ำหนักตัวเกิน ควรหาวิธีเพื่อลดน้ำหนัก เช่น ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและควบคุมอาหาร เพราะปัญหาน้ำหนักตัวเกินเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหานกเขาไม่ขันหรือหย่อนสมรรถภาพทางเพศในระยะยาวได้
เลิกสูบบุหรี่ ลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกฮอล์ และไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดที่ผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นตัวทำลายสุขภาพ เมื่อสุขภาพร่างกายแย่ลงก็เป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำมาสู่การหย่อนสมรรถภาพทางเพศได้ในที่สุด
หลีกเลี่ยงหรือพยายามลดความเครียด เพราะความเครียด ความวิตกกังวล หรือภาวะซึมเศร้า เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ดังนั้น ควรหาทางลดความเครียด หาสาเหตุที่ทำให้เครียดและพิจารณาดูว่าสามารถแก้ไขได้หรือไม่ หากไม่ได้ก็ควรขอความช่วยเหลือ เช่น เข้ารับขอคำปรึกษาจากนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์
ผู้ที่กำลังใช้ยารักษาโรคที่อาจก่อให้เกิดภาวะนกเขาไม่ขัน เช่น ยารักษาโรคซึมเศร้า (Antidepressants) หรือยาแก้แพ้ (Antihistamines) เมื่อผู้ป่วยที่ใช้ยาดังกล่าวพบว่าตนเองมีภาวะนกเขาไม่ขันอยู่ สามารถปรึกษากับแพทย์ที่ให้การรักษาโรคนั้น ๆ