เลือกบริษัทรับทำบัญชีอย่างไร?

Standard

ข้อพิจารณาเบื้องต้นในการเลือกสำนักงานบัญชี หรือ ผู้รับทำบัญชีอิสระ…เพื่อที่กิจการจะไม่เจ็บปวดในภายหลัง

1. มีคุณสมบัติครบถ้วนตามกฎหมาย

เช่น วุฒิการศึกษาบัญชี, ขึ้นทะเบียนกับกรมพัฒน์ฯ-สภาวิชาชีพบัญชี ครบถ้วน

ไม่ใช่ใครๆก็เป็นผู้ทำบัญชีได้ ผู้รับทำบัญชีของนิติบุคคลจะต้องขึ้นทะเบียนกับกรมพัฒน์และสภาวิชาชีพบัญชี อีกทั้งยังจะต้องมีการอบรมทุกปี เพื่อรักษาสถานะผู้ทำบัญชีไว้ (เรียก การพัฒนาความรู้ต่อเนื่อง หรือ CPD)

นอกจากนี้กฎหมายมีการกำหนดไว้ด้วยว่าผู้ทำบัญชี จะต้องมีวุฒิการศึกษาบัญชีเท่านั้น ส่วนจะวุฒิปวส.ขึ้นไป หรือ ป.ตรี ขึ้นกับประเภทและขนาดของกิจการ เช่น

ห้างหุ้นส่วนจำกัด (หจก) หรือ บริษัทจำกัด ที่มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท, สินทรัพย์รวม และรายได้รวมไม่เกิน 30 ล้านบาท >> ผู้ทำบัญชีต้องมีวุฒิปวส.ขึ้นไป
ห้างหุ้นส่วนจำกัด (หจก) หรือ บริษัทจำกัด ที่มีทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท ขึ้นไป, สินทรัพย์รวม และรายได้รวม 30 ล้านบาท ขึ้นไป >> ผู้ทำบัญชีต้องมีวุฒิปริญญาตรี ขึ้นไป

2. มีความรู้บัญชี-ภาษี-ธุรกิจ

ก่อนจะตกลงว่าจ้าง กิจการควรสอบถามประเด็นที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของตน เพื่อพิจารณาว่าสำนักงานบัญชีท่านนั้นมีความเข้าใจพื้นฐานในธุรกิจ ตอบคำถามได้ ให้คำปรึกษาได้

ถ้าไม่มั่นใจในคำตอบ ลองสอบถามหลายๆสำนักงานบัญชี แล้วเปรียบเทียบกันว่าสำนักงานใดสามารถให้คำปรึกษาได้เข้าใจมากกว่ากัน (ปล. “เข้าใจ” ไม่ใช่ถูกใจนะคะ เพราะคำตอบถูกใจอาจไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องในทางกฎหมาย ก็เป็นได้)

3. มีตัวตน หลักแหล่งชัดเจน

ในปัจจุบันการติดต่อสื่อสารและส่งของสะดวก รวดเร็ว ขึ้นมาก กิจการจึงอาจพิจารณาใช้บริการสำนักงานบัญชีที่ไม่ได้อยู่ใกล้ออฟฟิซของกิจการได้

อย่างไรก็ตามกิจการควรทราบที่อยู่หลักแหล่งของสำนักงานบัญชีที่ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเอกสารอยู่ที่สำนักงานบัญชีทั้งหมด กิจการยิ่งต้องมั่นใจว่าถ้าเกิดอะไรขึ้น คุณจะตามหาเค้าเจอ

และต้องคำนึงถึงด้วยว่าในยามทุกข์ เช่น หากกิจการโดนเจ้าหน้าที่สรรพากร หรือ สารวัตรบัญชีเรียกพบ คุณจะไม่ถูกทิ้งไว้กลางทาง สำนักงานบัญชีนั้นจะร่วมฝ่าฝันไปพร้อมกับคุณในฐานะผู้ทำบัญชีของคุณ

4. ติดต่อได้ง่าย

เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการทำธุรกิจ กิจการควรเลือกสำนักงานบัญชีที่ติดต่อได้ง่าย ไม่เงียบหาย ให้คำปรึกษาได้ทันท่วงที

ควรจ้างงานสำนักงานบัญชีโดยตรง ไม่ผ่านนายหน้า เพื่อที่หากมีคำถาม มีปัญหา กิจการสามารถพูดคุย ปรึกษาได้ทันที ไม่ต้องรอถามกันไปมาหลายขั้นตอน

อีกทั้ง เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการทำงาน สำนักงานบัญชีควรมอบหมายบุคคลที่เฉพาะเจาะจงมาดูแลบัญชีของกิจการคุณ ไม่ควรเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา เพื่อให้ผู้ดูแลท่านนั้นทราบเรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นกับบัญชีของกิจการของคุณอย่างต่อเนื่อง

5. ตรงไปตรงมา

เลือกสำนักงานบัญชีที่ไม่ปิดบังซ่อนเร้น เช่น ส่งแบบยื่นภาษีและใบเสร็จรับเงินจากกรมสรรพากรให้กิจการเพื่อเป็นหลักฐานเสมอ รายงานความคืบหน้าของการทำงานเป็นระยะ